หลังเที่ยงคืนของวันที่ 26 พ.ย. 2559 “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” จะปฏิบัติการทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธิน แต่กลับต้องเลื่อนการทุบออกไป และปิดการจราจรต่อไปถึงวันที่ 29 พ.ย. เพื่อให้การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านการจราจรที่เกิดจากการรื้อถอนสะพานครบทุกด้าน และเป็นไปด้วยความรอบคอบ ซึ่งถ้าวันที่ลงมือทุบสะพานข้ามแยกรัชโยธินมาถึง เท่ากับเป็นการปิดตำนานสะพานเหล็ก ที่สร้างโดย “กทม.-กรุงเทพมหานคร” อยู่คู่คนกรุงเทพฯร่วม 26 ปี นับจากปี 2533 เพื่อรับตอม่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.7 กม. ที่ “รฟม.” กำลังก่อสร้าง ซึ่งแยกรัชโยธินเป็นจุดไฮไลต์ เพราะเป็นพื้นที่มีรถเข้า-ออกถึง 2 แสนคัน/วัน และมีผลกระทบต่อการจราจรมากที่สุด จึงต้องหารูปแบบก่อสร้างที่ลงตัว หลังใช้เวลาหารือร่วมกันนานหลายปี ทั้ง “กทม.-รฟม.” เคาะจะสร้างอุโมงค์ทางลอดแนวถนนรัชดาภิเษกทดแทนสะพาน ใช้เวลาสร้าง 2 ปี ตั้งแต่ ก.พ. 2560-ม.ค. 2562
ส่วนแนว “ถนนพหลโยธิน” จะสร้างสะพานข้ามแยกขึ้นมาใหม่ ใช้เวลา 5 เดือน เพื่อเลี่ยงตอม่อรถไฟฟ้า ที่สำคัญเป็นการแก้จราจรที่ 2 ฝ่ายมองว่าโมเดลนี้จะยั่งยืนที่สุด
ในช่วงระหว่างก่อสร้าง 2 ปีนี้ คนกรุงจึงหนีไม่พ้นจะเผชิญกับปัญหารถติดไปจนถึงเดือน ก.พ. 2562
แต่เมื่อแล้วเสร็จ “สี่แยกรัชโยธิน” ที่ติด 1 ใน 10 “แยกซดน้ำมัน” จะกลายเป็นแค่ตำนาน เพราะจะมีทั้ง “อุโมงค์ทางลอด-สะพาน-รถไฟฟ้า” มาเป็นตัวช่วย ทำให้การจราจรลื่นไหลทุกทิศทาง เนื่องจากอนาคตบริเวณสี่แยกจะจัดการจราจรเป็นลักษณะวงเวียน พร้อมปรับจังหวะสัญญาณไฟจราจรให้เร็วขึ้น
นายพินิต เลิศอุดมธนา รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า อุโมงค์ทางลอดรัชโยธินเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพฯตั้งแต่ปี 2532 ประกอบด้วย แยกบางพลัด ท่าพระ มไหสวรรย์ และรัชโยธิน ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดเสร็จแล้ว 3 แห่ง ยังเหลือแยกรัชโยธินที่เพิ่งได้ข้อสรุปจะสร้างปีหน้า
ด้าน “พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล” ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า อุโมงค์ทางลอดรัชโยธิน ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รวมงานก่อสร้างไว้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ตามแผนเดิมจะปิดสะพานตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 แต่มีข้อกังวลเรื่องรถติด จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้วันที่แน่นอน คือวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ถนนรัชดาภิเษกเป็นโครงข่ายถนนวงแหวนชั้นใน ซึ่งเชื่อมการเดินทางแนวตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีทางแยกอยู่หลายจุด ดังนั้นการสร้างอุโมงค์แยกรัชโยธิน จะทำให้บริเวณทางแยกและถนนสายหลักที่เป็นจุดตัด เช่น ถนนประชาชื่น วิภาวดีรังสิต พหลโยธิน ลาดพร้าว และพระราม 9 คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ