เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดภัยน้ำท่วม จากเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 หลายคนคงต้องการยกพื้นบ้านให้สูงขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า “การดีดบ้าน” ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี คือ การขุดดินใต้บ้าน สกัดตอม่อเดิมเพื่อแยกบ้านออกจากฐาน แล้วยกบ้านทั้งหลังขึ้นจนถึงระดับความสูงตามที่ต้องการ จากนั้นก็ทำเสาตอม่อขึ้นมาใหม่เพื่อมารองรับตัวบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องทำรากฐานบ้านใหม่เพราะเป็นการยกขึ้นตรงๆ ไม่ได้ย้ายไปทางซ้ายหรือขวา
การสร้างบ้าน และเมืองหลายๆ เมืองในประเทศไทย สร้างอยู่บนที่ราบลุ่มน้ำ ซึ่งมีหลายจุดที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มาก และบางจุดตั้งอยู่พื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ การสร้างบ้านสมัยก่อน จะมีลักษณะยกใต้ถุนบ้านสูง แต่ปัจจุบันเราใช้วิธีการถมดินให้สูงขึ้นแทนการยกใต้ถุนบ้าน ส่งผลทำให้ทับทางระบายน้ำหรือเกิดการระบายน้ำได้ยากขึ้น ระดับน้ำที่ท่วมก็จะสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นก่อนสร้างบ้านควรศึกษาพื้นที่ทำเล และระดับความสูงของพื้นที่ต่อระดับน้ำทะเล แต่ปัญหาน้ำท่วมยังไม่หมดแค่นี้
อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การถมดินทำให้เกิดปัญหาการระบายน้ำยากขึ้น เมื่อน้ำมา ระดับน้ำรอบบ้านจะสูงขึ้น น้ำที่เข้ามาภายในบ้านจึงไม่ได้เข้ามาทางประตูบ้านได้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจุดที่น้ำยังสามารถเข้ามาได้ จึงเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง เช่น ท่อน้ำทิ้งหรือท่อระบายน้ำ ห้องน้ำ และผนังบ้าน
ท่อน้ำทิ้งหรือท่อระบายน้ำ เป็นท่อที่มีการเชื่อมต่อกับท่อภายนอกโดยตรง เมื่อระดับน้ำในท่อสูงขึ้น ทำให้น้ำถูกดันเข้ามาสู่ภายในตัวบ้านได้
ห้องน้ำ เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่มีการต่อท่อน้ำกับภายนอกมากที่สุด หากน้ำภายนอกระบายไม่ทันอาจส่งผลให้น้ำภายนอกดันเข้าภายในบ้านได้ด้วยเช่นกัน
ผนังบ้าน บ้านที่มีอายุมากนานนับสิบๆปี ในส่วนผนังบ้านอาจเกิดรอยร้าวได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้น้ำสามารถซึมผ่านรอยร้าวรูเล็กๆ นั้นเข้ามาได้บ้านได้ ถึงแม้อาจไม่มากนัก แต่ก็ก่อความเสียให้บ้านได้มาก และเมื่อบ้านมีรอยร้าว นั่นหมายถึงผนังกำแพงบ้านคุณกำลังอ่อนแอ ทนต่อแรงต้านได้ไม่มากเท่าที่ควร หากน้ำมาด้วยความแรง จะส่งผลให้บ้านทรุดตัวพังได้